วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค 2 สมัยที่65 เล่ม12

                     คำถาม  ฟ้องขอให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ในเวลากลางคืนและร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่งมีโทษหนักกว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในฐานความผิดที่ถูกต้องได้หรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  653/2553 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับ ผ. ร่วมกันวิ่งราวโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหาย แต่ทางนำสืบของโจทก์กลับได้ความว่า ผ. ทำทีเป็นพูดโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเอาโทรศัพท์ไปในขณะที่ผู้เสียหายให้บริการลูกค้าคนอื่นอยู่ เป็นการเอาไปในขณะเผลอ  มิใช่เป็นการฉกฉวยทรัพย์ไปโดยซึ่งหน้า จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อเหตุเกิดในเวลากลางคืนและร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) และ 335 (7) ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคสอง ซึ่งมีโทษหนักกว่าความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามมาตรา 336 วรรคหนึ่ง  ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวีธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192  แต่จะพิพากษาลงโทษจำเลยหนักขึ้นกว่าที่ศาลล่างกำหนดไม่ได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212
                         
                       คำถาม   พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานะลักทรัพย์รถยนต์  หากรถยนต์ของผู้เสียหายถูกถอดส่วนควบออกเป็นอะไหล่ชิ้นส่วนต่าง ๆ คงเหลือซากที่เป็นรถยนต์ซึ่งผู้เสียหายได้รับคืนไปแล้ว  พนักงานอัยการจะมีคำขอให้คืนหรือใช้ราคารถยนต์แก่ผู้เสียหายได้หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่   8459/2552  รถยนต์ของผู้เสียหายถูกถอดอุปกรณ์ส่วนควบออกเป็นอะไหล่ชิ้นส่วนต่าง ๆ คงเหลือซากที่เป็นรถยนต์ มิได้ถูกทำลายสูญหายไปทั้งหมดหรือแปรเปลี่ยนนำไปเป็นของอื่น เมื่อผู้เสียหายได้รับอุปกรณ์ส่วนควบซึ่งเป็นของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้คืนแล้ว พนักงานอัยการโจทก์จะขอให้คืนหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43 อีกไม่ได้ แม้ผู้เสียหายจะได้รับความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยเนื่องจากนำรถยนต์ไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมไม่ได้  ก็เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายจะต้องไปว่ากล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเอาเองเป็นคดีใหม่
                        
                        คำถาม   ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  (มิได้พิพากษายกฟ้อง) ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจะต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 220  หรือไม่
                        คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่   ท. 1352/2553  ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า มูลหนี้ตามเช็คพิพาทโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว มูลหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นอันสิ้นผลผูกพันคดีจึงเลิกกัน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์  จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.  2499 มาตรา  4  ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  220
                         
                        คำถาม  คำเบิกความไว้ก่อนฟ้องคดี  ในคดีอาญาอีกสำนวนหนึ่ง จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีหลังซึ่งเป็นคดีเรื่องเดียวกันกับคดีก่อนได้หรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  10272/2553  คำเบิกความของผู้เสียหายและ ว. ซึ่งศาลชั้นต้นให้สืบพยานไว้ก่อนในคดีอาญาอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งพวกของจำเลยร่วมกระทำความผิดกับจำเลยในคดีนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่  1 ถึงที่ 4 ในคดีดังกล่าว คดีนี้และคดีดังกล่าวจึงเป็นคดีเดียวกัน แต่ที่พนักงานอัยการต้องแยกฟ้องเป็น 2 คดี  เนื่องจากจับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ก่อน ส่วนจำเลยเพิ่งจับได้ในภายหลัง เพราะจำเลยหลบหนี ดังนั้น ศาลจึงรับฟังคำเบิก ความของผู้เสียหายและ ว. ที่ได้เบิกความไว้ในคดีดังกล่าวในการพิจารณาคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคห้า
                        ผู้เสียหายทำร้ายผู้ตายโดยใช้ไม้ตีแขนขาผู้ตายก็เนื่องจากถูกจำเลยบังคับให้ตี เมื่อผู้เสียหายไม่ตีผู้ตาย จำเลยก็ตีผู้เสียหายทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีรอยช้ำบวมที่ใบหน้า ศีรษะ แขนและขา การที่ผู้เสียหายตีผู้ตายดังกล่าวเป็นเพราะอยู่ภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้  ผู้เสียหายจึงมิได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลย จึงมิใช่กรณีที่โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานอันจะต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232
                       เทปบันทึกเสียงของกลางซึ่งพบที่บ้านจำเลยเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย  จำเลยมิได้ต่อสู้หรือปฏิเสธความถูกต้องของเสียงที่มีการบันทึกไว้  จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
                      
                        คำถาม  จำเลยให้การต่อสู้ว่า  คดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้วินิจฉัยเรื่องอายุความ โจทก์อุทธรณ์ จำเลยไม่ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความตั้งเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ  จำเลยจะฎีกาปัญหาเรื่องอายุความได้หรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  6700/2553  จำเลยที่ 2 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  พ.ศ. 2539  มาตรา 10  เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความ โจทก์อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความตั้งเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่มีประเด็นในเรื่องอายุความ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ  10 ปี ในการใช้สิทธิไล่เบี้ยไว้ ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง  ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา  249
                         
                        คำถาม  โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เงินและบังคับจำนองระหว่างฎีกา จำเลยจะขอคุ้มครองชั่วคราวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 ให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไว้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้หรือไม่
                        คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่  ท.  1527/2553 โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เงินและบังคับจำนอง  มิใช่พิพาทกันด้วยทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่จำเลยจะร้องขอเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง โดยขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไว้ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264
                        
                        คำถาม  ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีโดยผิดหลงว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่ง  ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์โดยไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องของโจทก์ให้แก่จำเลยคัดค้านก่อน แล้วมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี ดังนี้ชอบหรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  2897/2553  ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย เวลา 9 นาฬิกา เมื่อถึงวันนัดในช่วงเช้าทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาศาลและไปคอยอยู่ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2  แต่เนื่องจากคดีนี้ย้ายไปพิจารณาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5  จึงไม่พบสำนวนคดีนี้ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2  ทนายโจทก์จึงไปสอบถามเจ้าหน้าที่ศูนย์หน้าบัลลังก์  ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์หน้าบัลลังก์ลงเวลานัดพิจารณาคดีผิดพลาดเป็นช่วงบ่าย ทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงไม่ได้เข้าห้องพิจารณาคดีที่ 5 ใน ช่วงเช้า โดยรออยู่ที่ศาลจนถึงช่วงบ่าย แสดงให้เห็นว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์และทนายโจทก์มาศาลตามกำหนดนัดแล้ว  แต่เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ศาลเองที่ทำให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และทนายโจทก์ไม่ได้เข้าห้องพิจารณาคดี  เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นเข้าใจว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา จึงมีคำส่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ เป็นการสั่งโดยผิดหลงชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวเสียได้ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ให้อำนาจไว้ โดยไม่จำต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ

                                                                  นายประเสริฐ   เสียงสุทธิวงศ์
                                                                             บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น