วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค 2 สมัยที่65 เล่ม11

                                                                     แก้คำผิด
                  ในหนังสือรวมคำบรรยาย เล่มที่ 7 หน้า 260  ย่อหน้าที่สอง วิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 อาจารย์สมชาย จุลนิติ์  ให้แก้ไขเป็นดังนี้
                      มาตรา 263 (เดิม) ในกรณีใด ๆ ถ้าศาลได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอในวิธีการชั่วคราวตามลักษณะนี้ จำเลยซึ่งต้องถูกบังคับโดยวิธีการนั้น  ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทน
                     (1) ถ้าคดีนั้นศาลตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายแพ้ และปรากฏว่าศาลมีคำสั่งโดยมีความเห็นหลงไปว่า สิทธิเรียกร้องของผู้ขอมีเหตุอันสมควร โดยความผิดหรือเลินเล่อของผู้ขอ
                     (2) ไม่ว่าคดีนั้นศาลจะชี้ขาดตัดสินให้โจทก์ชนะหรือแพ้คดีก็ดี ถ้าปรากฎว่าศาลมีคำสั่งโดยมีความเห็นหลงไปว่าวิธีการเช่นว่านี้มีเหตุผลเพียงพอ โดยความผิดหรือเลินเล่อของผู้ขอ”
                      คำถาม   มีหลักเกณฑ์ตายตัวหรือไม่ว่าศาลจะต้องกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ต้องมีหน้าที่นำสืบก่อน
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  4823 - 4824/2554  ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสามโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ แม้ไม่ได้ระบุภาระการพิสูจน์ใหม่ให้ชัดเจนว่าตกอยู่แก่ฝ่ายใด  แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์  ดังนี้ ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสาม โดยผลของกฎหมายดังกล่าวและศาลก็ต้องพิพากษาไปตามภาระการพิสูจน์ที่ถูกต้อง  อย่างไรก็ตามแม้ภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลยทั้งสามก็มิใช่หลักเกณฑ์ตายตัวว่า ศาลจะต้องกำหนดให้จำเลยทั้งสามมีหน้าที่นำสืบก่อนเสมอไป เพราะศาลอาจกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนได้เช่นกัน ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความสะดวกรวดเร็วและความยุติธรรมในการพิจารณาคดี  ดังนั้น  การกำหนดหน้าที่นำสืบก่อนจึงหาได้ทำให้ภาระการพิสูจน์ที่ถูกต้องเปลี่ยนแปลงไปไม่ เพียงแต่อาจจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายที่นำสืบพยานก่อนเห็นว่าตนเสียเปรียบในเชิงคดี  ซึ่งโจทก์ชอบที่จะโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาดังกล่าวได้ เมื่อไม่ได้โต้แย้งคัดค้านย่อมถือว่าโจทก์ยอมรับตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว โจทก์ไม่อาจฎีกาโต้แย้งในข้อนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
                         
                       คำถาม  คดีที่ศาลมีคำพิพากษาตามยอม  คู่ความจะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความอ้างว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนได้หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  6915/2554  เมื่อจำเลยเห็นว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมนั้น ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันเป็นเหตุให้เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ที่จำเลยสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้ จำเลยก็ต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตามยอมให้คู่ความฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229  แต่จำเลยหาได้อุทธรณ์ไม่ กลับยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหรือแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่มีบทกฎหมายใดให้จำเลยกระทำเช่นนั้นได้  การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้วินิจฉัยจึงชอบแล้ว
                         
                        คำถาม   คดีฟ้องขับไล่ออกจากอสังหาริมทรัพย์และเรียกค่าเสียหาย จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์  คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงหรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  7572/2554  โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาท  ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์อาจให้เช่าได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,000  บาท ค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 48,000 บาท และมีคำขอบังคับให้จำเลยกับบริวารรื้อถอนบ้านหลังดังกล่าวกับขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ให้ใช้ค่าเสียหาย  48,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยกับบริวารจะรื้อถอนบ้านและออกไปจากที่ดินพิพาท จึงถือว่าคำขอบังคับให้จำเลยกับบริวารรื้อถอนบ้านและออกไปจากที่ดินพิพาทเป็นคำขอหลัก ยิ่งไปกว่านั้นระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์แถลงไม่ติดใจบังคับจำเลยเกี่ยวกับค่าเสียหายตามฟ้องแล้ว เช่นนี้ คงเหลือคำขอบังคับแต่เพียงให้จำเลยกับบริวารรื้อถอนบ้านและออกไปจากที่ดินพิพาทเท่านั้น  ซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณราคาเป็นเงินได้  แม้จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย  จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)
                     
                        คำถาม   การอ้างว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่ำเกินไปจะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองได้หรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  7574/2554   คำสั่งของศาลที่ให้เป็นที่สุดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ทวิวรรคสี่ นั้น ต้องเป็นคำสั่งตามคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่อ้างเหตุว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดต่ำเกินสมควรตาม ป.วิ.พ.มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่ำเกินไปนั้นจึงไม่เป็นที่สุด  กรณีการประเมินราคาทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเพียงการประเมินราคาในชั้นต้น เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีขายทอดตลาดซึ่งอาจจะไม่ตรงกับราคาที่แท้จริงได้  และการกำหนดราคาเริ่มต้นขายตามประกาศกรมบังคับคดีก็ไม่ได้ผูกมัดจำเลยหรือโจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะต้องเป็นไปตามราคาดังกล่าว  แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใด  ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าราคาต่ำเกินไปก็ชอบที่จะคัดค้านการขายทอดตลาดได้  การที่จำเลยอ้างว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่ำเกินไปนั้น ยังถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิที่จำเลยจะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ.มาตรา 296 วรรคสองได้
                      
                       คำถาม  คดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกแต่รอการลงโทษ โจทก์จะอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษได้หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                              คำพิพากษาฎีกาที่  6698/2554 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43, 157 ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ส. มารดา ช. ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ โดยมิได้ระบุว่าอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานใด แต่ก็พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ส. เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 เพราะตามฟ้องโจทก์ระบุว่า ช. ได้รับอันตรายสาหัส ช. จึงเป็นผู้เสียหายแต่เฉพาะในข้อหาดังกล่าวเท่านั้น ต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำเลยโดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ซึ่งความผิดตาม ป. อ. มาตรา 300 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์ร่วมจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษ  จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบท บัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
                        
                       คำถาม   กรณีที่ทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด แต่เป็นความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนจากที่โจทก์บรรยายในฟ้อง  จะถือว่าแตกต่างในข้อที่เป็นสาระสำคัญหรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  9663/2555  ตามทางบรรยายฟ้องและตามข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติ  ผู้เสียหายไม่ได้มอบหมายให้จำเลยเบิกเงิน 490,000  บาท จากบัญชีของผู้เสียหายที่เปิดไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาตาก  แต่เป็นเจตนาของจำเลยที่ต้องการได้เงินโดยมิชอบ  และหาวิธีการโดยการปลอมใบถอนเงินนำไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว  ดังนั้น เงินที่จำเลยได้มาตามฟ้อง  แม้จะเป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ธนาคารทำพิธีการทางบัญชีของธนาคารหักจากบัญชีของผู้เสียหายก็ตาม แต่เป็นเพราะจำเลยนำเอกสารปลอมไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่ของธนาคารหลงเชื่อ  เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคาร มิใช่เงินของผู้เสียหายตาม ป.พ.พ.มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินผู้เสียหาย
                       แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่า  ความผิดฐานยักยอกที่โจทก์ฟ้องแท้จริงแล้วเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่เป็นความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนจากที่โจทก์บรรยายในฟ้อง  จึงเป็นข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องในข้อที่เป็นสาระสำคัญ  ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคสอง
                        
                       คำถาม    การโต้แย้งเอกสารมหาชน ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  533/2551  โฉนดที่ดินเป็นเอกสารมหาชน กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้อง  ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายอันเป็นคุณต่อผู้ร้อง
                       คำพิพากษาฎีกาที่  2115/2551 โฉนดที่ดินและสารบัญญัติจดทะเบียนโฉนดที่ดินเป็นเอกสารมหาชนที่รัฐออกให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าได้ออกมาโดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127  เมื่อโฉนดที่ดินดังกล่าวมีชื่อจำเลยกับพี่น้องเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันย่อมสันนิษฐานได้ว่าจำเลยกับพี่น้องมีส่วนเป็นเจ้าของเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1357 การที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับส่วนแบ่งมากกว่าพี่น้องคนอื่น จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว
                       คำพิพากษาฎีกาที่  3386/2553  เอกสารสัญญาจำนองที่จดทะเบียนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเป็นเอกสารมหาชนที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าแท้จริงและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 127  จำเลยมีหน้าที่นำสืบถึงความไม่ถูกต้อง โดยจำเลยได้ให้การยอมรับว่าได้ทำสัญญาจำนองดังกล่าวกับโจทก์จริง  แต่กล่าวอ้างว่า ตามความจริงนั้นจำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์  แต่กู้ยืมเงินจาก ม.โดยไม่คิดดอกเบี้ยกัน ส่วนเหตุที่ทำสัญญาจำนองกับโจทก์  เนื่องจากโจทก์ขอให้ทำสัญญากันไว้เพื่อไม่ให้พี่น้องของโจทก์และจำเลยต่อว่า ม. อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยแสดงเจตนาทำนิติกรรมสัญญาโดยในใจจริงจำเลยไม่ได้มีเจตนาให้ตนต้องผูกพันตามเจตนาและสัญญาดังกล่าว  ซึ่งโจทก์ทราบอยู่แล้ว โจทก์จึงอ้างสัญญานี้มาบังคับจำเลยไม่ได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 อันเป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญาจำนองและหนี้ตามสัญญาไม่สมบูรณ์โดยไม่มีเจตนาทำสัญญากันจริง  ซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธินำสืบพยานบุคคลแสดงข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวอ้างได้โดยไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

                                                                    นายประเสริฐ   เสียงสุทธิวงศ์
                                                                               บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น