วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค 2 สมัยที่65 เล่ม13


                     คำถาม   เจ้าหนี้โอนสิทธิเรียกร้องให้บุคคลอื่นโดยสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องทำที่สำนักงานของผู้รับโอน หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่ผู้รับโอน จะถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่ใด
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  9430/2554  สัญญาว่าจ้างที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ระบุว่าทำ ณ ที่ทำการของจำเลยที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดพล แม้ห้างดังกล่าวทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้างตามสัญญาว่าจ้างให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ก็เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของห้างฯ  ในอันที่จะบังคับชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมจากจำเลยแทนห้างฯ เมื่อสัญญาที่เป็นมูลหนี้ให้เกิดการโอนสิทธิเรียกร้อง เกิดขึ้น ณ ที่ทำการของจำเลย และจำเลยปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้แก่่โจทก์ ถือว่ามูลเหตุซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องเกิดขึ้น ณ ที่ทำการของจำเลยซึ่งอยู่ในอำนาจศาลจังหวัดพล  โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) ไม่ได้
                     
                     คำถาม   จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เรื่องโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไว้ในคำให้การ แต่ได้กล่าวอ้างไว้ในคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่  ดังนี้  จำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  2129/2554  แม้ว่า  ป.พ.พ. มาตรา 5 จะบัญญัติไว้ว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต   แต่มาตรา 6 ก็ได้บัญญัติต่อไปว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริต จำเลยทั้งสองจะต้องให้การโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร  เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทในคำให้การจึงจะนำสืบหรือยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ฎีกาเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไว้ในคำให้การ แม้จำเลยทั้งสองจะได้กล่าวอ้างไว้ในคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่  แต่ไม่ใช่คำให้การจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท
                      แม้ว่าปัญหาเรื่องเอกสารใดเป็นตราสารอันต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตาม ป.รัษฎากรจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและคู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้แม้จะไม่่ได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง แต่ตามสัญญากู้เงินมีการปิดอากรแสตมป์และประทับตราค่าอากรแสตมป์ซึ่งเป็นวันทำสัญญากู้ยืมดังกล่าวโดยครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ส่วนหนังสือต่ออายุสัญญากู้เงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินฉบับเดิมและไม่ใช่ตราสารที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร จึงรับฟังสัญญากู้เงินและหนังสือต่อสัญญากู้เงินเป็นพยานหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
                       
                       คำถาม   ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์และผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 จะอุทธรณ์ฎีกาข้อเท็จจริงในส่วนแพ่งได้หรือไม่
                       คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  9036/2554   ในคดีตามคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายเป็นเงิน179,000 บาท จำเลยฎีกาว่าจำเลยต้องรับผิดไม่เกิน 10,000 บาท จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ฎีกาของจำเลยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์  เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
                      
                      คำถาม    ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นความผิดฐานกระทำอนาจาร ศาลลงโทษได้หรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  11065/2554  จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายกดตัวผู้เสียหายลงกับพื้นใช้มือชกที่บริเวณท้องและปากของผู้เสียหาย  แล้วจำเลยฉีกกระชากกระโปรงของผู้เสียหายจนขาด ผู้เสียหายร้องให้คนช่วยและมีผู้เข้าช่วยเหลือลักษณะการกระทำของจำเลยยังไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายได้ จึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้  แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 อันเป็นความผิดที่รวมการกระทำตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามความที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายได้
                      
                      คำถาม    คดีอาญาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์  คู่ความจะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายได้หรือไม่
                      ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน  5 ปี โจทก์จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่ 10113/2554  ความผิดข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220
                       ความผิดข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (5) ประกอบมาตรา 65 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ที่โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วย และขณะกระทำความผิดจำเลยมีสติสามารถรู้ผิดชอบชั่วดีสมควรพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

                                                                        นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์
                                                                            บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น