คำถาม ธนาคารเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของลูกค้า
จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอก หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 7819/2552 การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตาม
ป.อ.มาตรา 334 นั้น
จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต
แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ปรากฏว่าเงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่
1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสอง เงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากจำนวนดังกล่าวนั้นประการใดก็ได้
จำเลยทั้งสองคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น
โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นเงินจำนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้น
การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1
จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง
คำพิพากษาฎีกาที่ 624/2553 การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตาม
ป.อ. มาตรา 334 นั้น
จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต
แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้
ปรากฎว่าเงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปนั้นเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่
1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสอง เงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น
โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นจำเนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้น
การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1
จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป
การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาฎีกาที่ 10558/2553 การที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่
1 มีสิทธินำเงินฝากประจำของโจทก์มาชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้
เป็นการกู้ยืมเงินโดยมีเงินฝากประจำเป็นหลักประกัน เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1
นำเงินฝากประจำมาหักกลบลบหนี้แล้วแต่จำเลยที่ 1
ปฏิบัติตามยังคงคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ต่อไปอีก โดยจำเลยที่ 1
อ้างว่าโจทก์ยังมิได้นำหนังสือรับรองสินเชื่อมาคืนให้จำเลยที่ 1 เช่นนี้
หากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง
โจทก์ชอบที่จะดำเนินคดีจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่ง เงินฝากของโจทก์ที่ฝากไว้กับจำเลยที่
1 ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ที่มีการฝากเงิน จำเลยที่
1 คงมีหน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 672
จึงมิใช่เป็นการที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 จัดการทรัพย์สินของตน
การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
คำถาม สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินโดยมิได้เป็นหนี้กันจริง
แล้วดำเนินการบังคับตามคำพิพากษาตามยอมต่อที่ดิน
เพื่อมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้กู้บังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวได้
จะเป็นความผิดหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 701/2553 จำเลยที่
1 และที่ 2 สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2541 จำนวนเงิน 500,000 บาท และฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวนเงิน 200,000 บาท โดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินคดีและบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่
42/2545 ของศาลชั้นต้นต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 47781 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1
เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1142/2544
ของศาลชั้นต้น บังคับคดีต่อทรัพย์สินดังกล่าวได้
การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจทำผิดกฎหมาย
อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 สัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับ
และสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น
จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่ต้องเพิกถอน
คำถาม ขับรถจักรยานยนต์ให้ผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์บรรทุกโทรทัศน์ที่ลักไป
โดยรู้อยู่ว่าเป็นโทรทัศน์ที่ลักมา เป็นความผิดฐานรับของโจรหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 8396/2552 การกระทำความผิดฐานรับของโจร ผู้กระทำไม่จำต้องรับทรัพย์ของกลางไว้ในความครอบครองของตนเอง เพียงแต่ช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่าย
ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ
หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด
การที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ให้ อ. นั่งซ้อนท้าย
บรรทุกโทรทัศน์ของกลางไปที่อำเภอดอนสัก โดยรู้อยู่ว่าเป็นโทรทัศน์ที่ อ. ลักมา
ก็เป็นการช่วยพาเอาไปเสียอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานรับของโจรแล้ว
คำถาม นำภาพถ่าย
(ไม่ได้ใช้ต้นฉบับ)
หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินปลอมไปยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์
และยื่นฟ้องทายาทเจ้าของที่ดินตามโฉนดจะเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 9026/2553 โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ จ. ตามคำสั่งศาล เมื่อ จ.
ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ การที่จำเลยนำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ปลอมไปยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์และยื่นคำฟ้องบังคับห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลย
โจทก์ย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการ กระทำของจำเลยแล้ว
เพราะอาจต้องเสียที่ดินพิพาทไปจากการกระทำดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นเอกสารสิทธิปลอม ภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวที่จำเลยถ่ายสำเนามา
จึงเป็นเอกสารสิทธิปลอมด้วย เมื่อจำเลยนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินไปใช้อ้างเป็นเอกสารแนบท้ายคำร้องและคำฟ้องโดยรู้อยู่แล้วว่าหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นเอกสารปลอม
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอมแล้ว
จำเลยนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์
และนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวไปยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นเพื่อบังคับห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยต่างวันเวลากัน
การกระทำของจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำถาม ผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ทราบว่ามีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า
จะต้องผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนดังกล่าวหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 454/2552 สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้เฉพาะแต่ในระหว่างคู่สัญญา ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินพิพาท เว้นแต่โจทก์ผู้รับโอนที่ดินพิพาทจะได้ตกลงยินยอมผูกพันที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาแทนผู้ให้เช่าเดิม
ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมที่จะผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา
แม้โจทก์จะทราบว่ามีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาระหว่างจำเลยกับบริษัท ม.
ในขณะรับโอนที่ดินพิพาท สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาก็ไม่ผูกพันโจทก์
และไม่ถือว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต
คำถาม การคืนเงินประกันการเช่าเป็นหน้าที่ตามสัญญาเช่าที่ผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าจะต้องรับผิดและปฏิบัติต่อผู้เช่าหรือไม่
ผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เช่ามีสิทธิขอให้บังคับผู้ให้เช่าส่งมอบค่าเช่าหลังจากโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ที่เช่าและเงินประกันความเสียหายที่ผู้เช่าชำระแก่ผู้ให้เช่าหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
(ก) คำพิพากษาฎีกาที่ 1990/2552 โจทก์ซื้อตึกแถวพิพาทมาจาก
ป. โดยมีจำเลยเช่าตึกแถวดังกล่าวจาก ป. อยู่ก่อนแล้ว
โดยจำเลยชำระเงินประกันความเสียหายจากการเช่าให้ ป. ใช้จำนวนหนึ่ง
เงินประกันการเช่านี้เป็นเงินประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างจำเลยผู้เช่าและผู้ให้เช่าเดิม
แม้ระบุไว้ในสัญญาเช่าก็เป็นเพียงสิทธิและหน้าที่อื่นตามสัญญาเช่า ทั้งไม่ใช่หน้าที่และความรับผิดระหว่างผู้ให้เช่าตามที่
ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคสอง การคืนเงินประกันการเช่าจึงไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่าที่โจทก์ในฐานะผู้รับโอนจะต้องรับผิดและปฏิบัติตาม
เมื่อโจทก์ไม่ต้องรับผิดคืนเงินประกันการเช่า ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีสิทธินำเงินประกันการเช่าจำนวน
72,000
บาทมาหักจากค่าเสียหายที่จำเลยค้างชำระค่าเช่าโจทก์ได้
(ข)
คำพิพากษาฎีกาที่ 44/2553 ตามบทบัญญัติของ
ป.พ.พ. มาตรา 569 ที่กำหนดให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ระงับไป
เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
และผู้รับโอนย่อมรับไปทังสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าด้วยนั้น
ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนมีสิทธิรับเงินค่าเช่าที่ผู้เช่าต้องชำระหลังจากโอนกรรมสิทธิ์และเงินประกันความเสียหายที่ผู้เช่าชำระให้แก่จำเลย
จำเลยไม่มีสิทธิได้รับหรือยึดถือเงินดังกล่าวไว้ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์แม้ในเวลาต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าไปยังผู้เช่าก็ตาม
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2036 และที่ดินโฉนดเลขที่ 20279
พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 76/4-7 ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
อาคารพาณิชย์เลขที่ดังกล่าวจำเลยได้ให้นาย ก. เช่ามีกำหนด 3 ปี ค่าเช่าเดือนละ 40,000 บาท โดยนาย ก. ได้วางเงินประกันความเสียหายจากการเช่าไว้แก่จำเลย จำนวน
200,000 บาท ดังนั้น
โจทก์จึงได้รับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าที่จำเลยและนาย ก. ทำไว้
ต่อมาปรากฎว่าภายหลังจากที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมสิทธิตามสัญญาเช่าดังกล่าวแล้ว
จำเลยยังได้รับค่าเช่าจากนาย ก.
นอกจากนั้นการที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมสิทธิตามสัญญาเช่าดังกล่าวมา จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินประกันความเสียหายตามสัญญาเช่าดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย
ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเช่า ค่าประกันพร้อมดอกเบี้ย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
โดยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 569 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนมีสิทธิรับเงินค่าเช่าที่ผู้เช่าต้องชำระหลังจากโอนกรรมสิทธิ์
และเงินประกันความเสียหายที่ผู้เช่าชำระให้แก่จำเลย
จำเลยไม่มีสิทธิได้รับหรือยึดถือเงินดังกล่าวไว้ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์
แม้ในเวลาต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าไปยังผู้เช่าก็ตาม
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น