วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค2 สมัย66 เล่ม11

                       คำถาม  หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จะร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีในคดีที่     ห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นจำเลย ได้หรือไม่  
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  12110/2555  คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงกันได้ จึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี
                       ผู้ร้องทั้งหกยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งหกและนายต่อพงษ์เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดเลย โดยนายต่อพงษ์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายต่อพงษ์ได้สมรู้ร่วมคิดกับโจทก์ ซึ่งเป็นป้าของนายต่อพงษ์ทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงมิได้มีการกู้ยืมเงินแต่ประการใด โจทก์และนายต่อพงษ์ได้สมรู้ร่วมคิดกันแสดงเจตนาลวงเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความและให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต่อมาโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์หลายรายการของจำเลย ผู้ร้องทั้งหกได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและหมายบังคับคดีซึ่งออกโดยผิดหลงดังกล่าวด้วย
              ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “........ ผู้ร้องทั้งหกเป็นเพียงหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดของจำเลยเท่านั้น ความรับผิดของผู้ร้องทั้งหกจึงจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดของจำเลย เมื่อศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยชดใช้เงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คำพิพากษาดังกล่าวย่อมกระทบแต่เฉพาะทรัพย์สินและกิจการของจำเลย หากจะต้องมีการบังคับคดีก็เป็นเพียงจำเลยเท่านั้นที่จะต้องถูกบังคับคดี ผู้ร้องทั้งหกในฐานะหุ้นส่วนจำกัดความผิดหาต้องถูกบังคับคดีด้วยไม่ ผู้ร้องทั้งหกจึงไม่ได้รับผลกระทบอันที่จะต้องได้รับความคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ที่จะขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและหมายบังคับคดีที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ได้ หากการกระทำของจำเลยกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องทั้งหก ผู้ร้องทั้งหกก็ชอบที่จะต้องนำคดีไปฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก ผู้ร้องทั้งหกจะขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและหมายบังคับคดีซึ่งได้ดำเนินมาโดยชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งหกโดยไม่ต้องไต่สวนก่อนชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องทั้งหกฟังไม่ขึ้น ”
                      คำถาม  ผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่ในหนี้ตามคำพิพากษามาจากคู่ความซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีจะเข้าสวมสิทธิแทนคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีได้หรือไม่ 
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  11401/2555 คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยอัตรานับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดี ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี
                   ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ ซึ่งรวมทั้งสิทธิเรียกร้องในคดีนี้ โดยผู้ร้องมีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองทราบแล้ว ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ฯลฯ
                  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “........เห็นว่า บุคคลที่มีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนยะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เมื่อผู้ร้องเป็นเพียงบุคคลภายนอกที่อ้างว่าได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ในหนี้ตามคำพิพากษาจากโจทก์ที่มีอยู่แก่จำเลยทั้งสอง ไม่ใช่คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีตามคำพิพากษาจึงไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีได้ นอกจากนี้การที่จะเข้าสวมสิทธิแทนคู่ความหรือบุคคลที่เป็ฯฝ่ายชนะคดีนั้นต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายให้เข้าสวมสิทธิแทนได้ เช่น พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์สินในคดีล้มละลายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ เป็นต้น เมื่อผู้ร้องไม่ใช่บุคคลตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่ให้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่อาจเข้าสวนสิทธิแทนโจทก์เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้
             คำถาม   พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานได้หรือไม่   
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้                
                     คำพิพากษาฎีกาที่  8722/2555  ตาม ป.วิ.อ. มาตรา  93 บัญญัติว่า “ ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด ” แสดงว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายดังกล่าว ปรากฏว่าจุดที่จำเลยนั่งโทรศัพท์อยู่ริมถนนเป็นบริเวณหน้าสนามเด็กเล่นอยู่บทถนนสุทธาวาส ส่วนซอยโรงถ่านอยู่ริมคลองวัดโล่ หรือคลองชลประทาน แสดงว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาส ไม่ได้อยู่หลังโรงถ่านตามที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นประจำแต่อย่างใด และ และทางพิจารณาก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยมีท่าทางพิรุธนอกจากจำเลยนั่งโทรศัพท์อยู่ริมถนนสุทธาวาสเท่านั้น การที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้นโดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันสมควรสงสัยตามกฎหมายดังกล่าวที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตน ตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง                       
                       คำถาม   ถ้อยคำบันทึกการจับกุมที่ว่า มีการตรวจค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อและจำเลยรับว่าเป็นธนบัตรที่ตนได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริง กับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก อ. และดาบตำรวจ ท. ที่ยืนยันว่า จำเลยรับว่าต้นกัญชาตนเป็นผู้ปลูกจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดจำเลยได้หรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  5375/2555  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “..........มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกถ้อยคำตามบันทึกการจับกุมที่ว่ามีการตรวจค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อกับจำเลยรับว่าเป็นธนบัตรที่ตนได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริง และคำเพิกความของร้อยตำรวจเอกอนุรักษ์และดาบตำรวจทวีศักดิ์ที่เบิกความยืนยันว่า จำเลยรับว่าต้นกัญชาดังกล่าวตนเป็นผู้ปลูกขึ้นวินิจฉัยรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย หรือไม่
                     เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 84 วรรคท้าย ที่บัญญํติว่า  “ ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่งหรือตามมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี ” มีความหมายว่าห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้ว ถ้อยคำตามบันทึกการจับกุมที่ว่า มีการตรวจค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ และจำเลยรับว่าเป็นธนบัตรที่ตนได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริง กับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกอนุรักษ์และดาบตำรวจทวีศักดิ์ที่ยืนยันว่า จำเลยรับว่าต้นกัญชาตนเป็นผู้ปลูกดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้น เป็นเพียงถ้อยคำอื่นที่จำเลยให้ไว้แก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมมิใช่คำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลย เมื่อปรากฎตามบันทึกการจับกุมว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมแจ้งสิทธิแก่จำเลยครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสอง แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นำถ้อยคำอื่นของจำเลยมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน กับฐานผลิตกัญชาจึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย แล้ว
                       คำถาม   ศาลในคดีอาญาพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ดังนี้ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดหรือไม่ 
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่   349/2555   คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 793/2549 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีไว้แน่นอนแล้วว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเป็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำความผิด ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 จะบัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดชอบบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่  ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาส่วนอาญาได้ ในคดีแพ่ง      จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
                      คำพิพากษาฎีกาที่  11473/2555  คดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องข้อหายักยอก ศาลวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับเงินส่วนที่ขาดจากพนักงานขายมาแล้วไม่ส่งให้ผู้เสียหาย แต่เป็นกรณีที่พนักงานขายยังไม่ส่งเงินส่วนที่ขาดส่งให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่ได้ยักยอก พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว แม้คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นจะยกฟ้องโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย แต่ผลในทางคดีต้องฟังว่า จำเลยไม่ได้ยักยอกเงินดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวให้รับผิดทางแพ่งโดยอ้างเหตุเช่นเดียวกับคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายของโจทก์จำเลยที่ 1 รับเงินค่าสินค้าจากพนักงานขายแล้วส่งมองให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วนโดยคำฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับผิดในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 รับมาจากพนักงานขายไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์จำนวน 150,559 บาท เป็นเงินจำนวนเดียวกันกับคำขอท้ายฟ้องคดีอาญาเพื่อขอให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย จึงเป็นการฟ้องอาศัยเหตุเดียวกันกับคดีอาญา ถือเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีส่วนอาญา ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยยังไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากพนักงานขายของโจทก์ การพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้าส่วนที่ขาดส่งสินค้าส่วนที่ขาดส่งจากพนักงานขายของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดด้วยเช่นกัน   
                    
                            
                                                                                                      นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์

                                                                                                                   บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น