คำถาม การขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
หรือขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทราบและขายไปในราคาต่ำกว่าปกติหรือขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีในการขายทอดตลาดและมีคำสั่งให้ผู้ประมูลเป็นผู้ซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาด
หากมีการเรียกค่าเสียหายมาด้วยจะยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4487/2556 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสี่ถอนการยึดทรัพย์ห้องชุดของโจทก์
หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่
แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการยึดทรัพย์ห้องชุดของโจทก์ อันสืบเนื่องมาจากข้ออ้างของโจทก์ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 284 ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296
บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่าให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงเพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง
โจทก์ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่อ้างว่า
เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชอบ จึงต้องดำเนินการตามบทกฎหมายนั้น
แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายมาด้วยก็เป็นเพียงคำขอต่อเนื่องและเมื่อศาลยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ก็จะฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์หาได้ไม่
ฟ้องของโจทก์จึงเกี่ยวกับการบังคับคดีในคดีเดิมของศาลชั้นต้นและจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง
ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2)
โจทก์จึงต้องเสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นในคดีเดิมซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี
หาใช่ยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีใหม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 1486/2551 โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่
20 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 1 และที่ 2
ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรีและอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3
ได้ดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 45418 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ
จังหวัดเพชรบุรี เป็นครั้งที่ 13 โดยติดจำนอง
ตามหมายบังคับคดีของศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 459/2543 ระหว่างนางสุรีย์
โสภณโภไคย โจทก์ นางนิ่มนวล พินทุโยธิน จำเลย
ซึ่งส่งไปให้ศาลจังหวัดเพชรบุรีบังคับคดีแทน
ในการขายทอดตลาดดังกล่าวโจทก์ได้เสนอราคาสูงสุดและไม่น้อยกว่าราคาสูงสุดของการประมูลในครั้งก่อนโดยไม่มีผู้คัดค้าน แต่จำเลยที่ 1
และที่ 2 ไม่เคาะไม้ขายทรัพย์ให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าราคาที่โจทก์เสนอยังไม่สมควรขาย
เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์เสียหาย
เพราะทำให้หนี้ไถ่ถอนจำนองในส่วนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 1,666,875 บาท
จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมรับผิดค่าเสียหายส่วนนี้ซึ่งโจทก์ขอคิดเพียง 300,000 บาท
ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการขายทอดตลาดดังกล่าวและมีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 45418
ได้จากการขายทอดตลาด กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว
พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า
โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น (ศาลแพ่ง) ได้หรือไม่ เห็นว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแพ่งธนบุรี
และคดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ตามคำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่
1 และที่ 2 ที่ไม่ขายทอดตลาดที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดและเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาประมูลครั้งก่อนซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา
309 ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นสาระสำคัญ กับมีคำขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นคำขอต่อเนื่อง ฟ้องของโจทก์จึงเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่
459/2543 ของศาลแพ่งซึ่งออกหมายบังคับคดีส่งให้ไปศาลจังหวัดเพชรบุรีบังคับคดีแทน
และจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องกรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 15
วรรคท้ายและมาตรา 302 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย โจทก์จะต้องเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีคือยื่นต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดี
หรืออาจยื่นต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นศาลที่บังคับคดีแทน
มิใช่ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนา (ศาลแพ่งธนบุรี)
ดังนั้น โจทก์จึงต้องเสนอคดีนี้โดยทำเป็นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นในคดีเดิมคือศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่
459/2543 ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี หาใช่ยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น
(ศาลแพ่ง) เป็นคดีใหม่ไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว ”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
คำพิพากษาฎีกาที่ 2997/2554
ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอน การขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 23422 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยที่ 1
และที่ 2 ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่
19323 พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยโจทก์ทั้งสองอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทราบ
และขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาต่ำกว่าปกติ ทำให้โจทก์ทั้งสองมีหนี้ค้างชำระต้องถูกยึดทรัพย์อื่นอีก จึงเป็นคำฟ้องที่อ้างว่าการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง
หาใช่เป็นคำฟ้องที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างไม่
ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่าให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี
โจทก์ทั้งสองจึงต้องดำเนินการไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จะนำคดีมาฟ้องใหม่ไม่ได้
คำถาม คดีฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดิน โจทก์จะขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราว ก่อนมีคำพิพากษาได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
กรณีที่โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องให้จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เป็นของโจทก์
คำพิพากษาฎีกาที่ 704/2545 โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1
ถึงที่ 20 และ จ. ตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1
ถึงที่ 20 ได้ตกลงขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 272 โฉนดเนื้อที่ 49 ไร่
ให้แก่โจทก์ในราคา 90 ล้านบาท
โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางส่วนและเข้าครอบครองเป็นเจ้าของทรัพย์สิน
ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 20
สมรู้ร่วมคิดกับจำเลยที่ 21 แสดงเจตนาลวงบุคคลภายนอกทำนิติกรรมซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่21 ขอให้ศาลพิพากษาให้นิติกรรมการซื้อขายและจดทะเบียนสิทธิที่ดินทั้ง
272 โฉนด ระหว่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 20 กับจำเลยที่ 21
เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันแสดงเจตนาลวงให้ตกเป็นโมฆะไม่มีผลใด ๆ ห้ามมิให้จำเลยทั้งหมดหรือบุคคลอื่นเข้าเกี่ยวข้องรบกวนการครอบครอง
จัดการและทำประโยชน์ของโจทก์ในที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งหมดจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง
272 โฉนดตามฟ้องให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยปลอดจำนองและปราศจากภาระติดพัน พร้อมกับให้รับเงินค่าที่ดินที่ค้าง
40,000,000 บาท จากโจทก์ ค่าภาษีและค่าธรรมเนียม
ค่าใช้จ่ายในการโอนให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันเป็นผู้เสีย หากจำเลยทั้งหมดไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไดให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน
500,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5
ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จึงเห็นได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์
หากจำเลยที่ 21 โอนที่ดินพิพาททั้งหมดให้แก่บุคคลอื่นในระหว่างพิจารณา
ย่อมจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะแม้โจทก์ชนะคดีก็ไม่อาจโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ได้
กรณีนับว่ามีเหตุจำเป็นและสมควรเพียงพอที่โจทก์จะขอให้ศาลมีคำสั่งตาม
ป.วิ.พ.มาตรา 254 (2) ประกอบมาตรา 255 (2) ห้ามมิให้จำเลยที่ 21
โอนที่ดินพิพาทแก่บุคคลอื่นจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงได้
แต่ถ้าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่มีคำขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจากโจทก์ให้ดูคำพิพากษาฎีกาที่
3730/2552 เปรียบเทียบ
คำพิพากษาฎีกาที่ 3730/2552 วัตถุประสงค์ของการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254
ก็เพื่อให้โจทก์สามารถบังคับคดีได้เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ดังนั้น
สิ่งที่จะขอคุ้มครองจะต้องตรงกับการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องร้องหรืออยู่ในประเด็น แห่งคดีและเป็นเรื่องที่อยู่ในคำขอท้ายฟ้องด้วย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2
ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโดยหลังจากจำเลยที่ 1 ที่ 2
ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้โจทก์แล้วกลับไปทำสัญญาจะซื้อจะขายและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่
3 โดยมีคำขอท้ายฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3
แต่ท้ายฟ้องของโจทก์ไม่มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2
โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจากโจทก์ไป
คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ที่ขอห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา
จึงเป็นเรื่องนอกเหนือจากประเด็นแห่งคดีและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์
จึงไม่มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา
254 มาใช้บังคับได้
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น