วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค2 สมัยที่65 เล่ม6

                          คำถาม   คดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์  ศาลชั้นต้นสั่งรับประทับฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อน ความปรากฏในศาลสูงจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์หรือไม่ และการกระทำความผิดเดียวกันหากพนักงานอัยการยื่นฟ้องแล้ว ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหากได้หรือไม่และศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกหรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       (ก) คำพิพากษาฎีกาที่ 477/2508   กระบวนการไต่สวนมูลฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (12), 162, 165, 167 นั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
                       คดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งรับประทับฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนนั้น ไม่ใช่การกระทำของโจทก์  จึงปราศจากข้ออ้างที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ และการที่จำเลยไม่ให้การรับสารภาพ ไม่ค้าน จะเท่ากับรับว่า คดีโจทก์มีมูลก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องและพิจารณาพิพากษาต่อไป
                       (ข) คำพิพากษาฎีกาที่  4007 – 4008/2530  แม้พนักงานจะยื่นฟ้องจำเลยข้อหายักยอกแล้ว โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายก็มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดเดียวกันเป็นคดีใหม่ต่างหากได้ ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ และเมื่อศาลสั่งรวมพิจารณาคดีเข้าด้วยกันแล้ว คดีของโจทก์ร่วมก็ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162
                        คำพิพากษาฎีกาที่ 1646-1649/2515  ไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของพนักงานอัยการมิให้ฟ้องคดีอาญาที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องไว้แล้ว ตรงกันข้ามข้อความในมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติถึงการพิจารณาคดีซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียต่างยื่นฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันแสดงว่า ผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างยื่นฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกัน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ จึงไม่เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่
                         
                             คำถาม  พนักงานสอบสวนมีความเห็นทางคดีให้สั่งฟ้องจำเลย แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง  พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยหรือไม่
                       คำตอบ   มีพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 1617/2548  ความผิดฐานจำหน่ายเมทเฟตามีนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งรัฐเป็นผู้เสียหาย โจทก์เป็นเพียงพนักงานสอบสวน  แม้จะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ แต่กฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6) เท่านั้น และโจทก์ก็มิใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าว
                         
                        คำถาม  ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว  แล้วต่อมาโจทก์ถอนฟ้องก่อนคดีถึงที่สุด จำเลยขอคืนค่าปรับ ศาลคืนค่าปรับแก่จำเลย พนักงานอัยการมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาหรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  3318/2542  ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ  ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องและจำเลยขอคืนค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้คืนค่าปรับแก่จำเลย กรณีจึงเป็นผู้เสียหายใช้อำนาจฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 28 โดยพนักงานอัยการมิได้เป็นคู่ความในคดีด้วย  ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา  11 ที่จะให้พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีนี้ได้  พนักงานอัยการจึงไม่สามารถเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ และไม่มีสิทธิฎีกา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
                         
                        คำถาม   ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการขายทอดตลาด แต่เนื้อหาของคำร้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง จะถือว่าเป็นการร้องขัดทรัพย์หรือไม่ และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งกันระหว่างเจ้าของรวมตามคำพิพากษานั้น บุคคลภายนอกจะมายื่นคำร้องขัดทรัพย์ได้หรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  9508/2553  ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. เพราะก่อนที่ ว. จะถึงแก่ความตายได้ยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง โดยสละการครอบครองและส่งมอบการครองครองให้ผู้ร้อง ตามคำร้องของผู้ร้องมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยที่ดินพิพาทที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องร้องขัดทรัพย์ มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีตามมาตรา 296 วรรคสองประกอบมาตรา 27
                        โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์และจำเลยทั้งสองตามส่วน  เป็นวิธีการแบ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1364 วรรคสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน  จึงมิใช่การร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288
                         คำพิพากษาฎีกาที่  7318/2553  ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้และขายทอดตลาดนั้นเป็นของผู้ร้อง โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ของผู้ร้องและดำเนินการขายทอดตลาดให้แก่โจทก์โดยผู้ร้องไม่รู้เห็นมาก่อน  การบังคับคดีจึงกระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมิได้เป็นลูกหนี้ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ขอให้นัดไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนการนำยึดที่ดินที่ผิดกระบวนการและมิชอบให้ งดการบังคับคดีไว้ก่อนปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องนั้น  เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่า  จำเลยทั้งสามหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้  ขอให้ยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงเกี่ยวกับการบังคับคดีครั้งนี้ อันมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องไปในที่สุด จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์นั่นเอง มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด และการจะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องได้นั้น ตามมาตรา 288 วรรคหนึ่ง ก็กำหนดให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดแปลงที่ 1ไปก่อนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องนี้
                       
                        คำถาม  เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดี ผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์ หรือผู้ขอรับชำระหนี้จำนอง จะมีสิทธิขอให้บังคับคดีต่อไปหรือไม่
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่   8970/2553  จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 และจำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีวางศาลแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549  ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุถอนการบังคับคดีจำเลยหรือไม่
                        เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 295 บัญญัติว่า ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีต่อไปนี้ (1) เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีนั้นเอง หรือถอนโดยคำสั่งศาล แล้วแต่กรณี เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดี  หรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี หรือได้หาประกันมาให้จนเป็นที่พอใจของศาล สำหรับจำนวนเงินเช่นว่านั้น  (2) ดังนั้น เมื่อจำเลยอ้างในคำร้องขอให้ถอนการบังคับคดีว่า จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดีและค่าธรรมเสียมในการบังคับคดีครบถ้วนแล้ว  โดยโจทก์ยื่นคำร้องรับว่าได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยแล้วจริง ทั้งขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลย ซึ่งเท่ากับโจทก์ก็ประสงค์ให้ถอนการบังคับคดี ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบคำร้องของจำเลยแล้ว ไม่ได้คัดค้านว่าจำเลยยังชำระค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีไม่ครบถ้วน ต้องฟังว่าจำเลยชำระค่า ธรรมเนียมในการบังคับคดีครบถ้วนแล้วเช่นกัน กรณีย่อมไม่มีเหตุบังคับคดีจำเลยอีกต่อไป ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดี หรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ที่จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิขอให้บังคับคดีต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา  290 วรรคแปด
                             พิพากษากลับว่า  ให้ถอนการบังคับคดีจำเลย
                             
                             คำถาม  คดีก่อนศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ขาดอายุความ โจทก์มาฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมจะเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่
                             คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                             คำพิพากษาฎีกาที่  8444/2554  คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมได้มาโดยอายุความ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3  พิพากษาว่าเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ คดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งสิทธิของโจทก์ที่ได้ทางภาระจำยอมโดยอายุความย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว โจทก์มาฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม ดังนี้ แม้คำขอบังคับท้ายฟ้องจะแตกต่างกันแต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็เนื่องมาจากมูลฐานเดียวกันคือ ทางพิพาทเป็นภาระจำยอมหรือไม่  เป็นกรณีที่โจทก์สามารถเรียกร้องโดยมีคำขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมในคดีก่อนได้อยู่แล้ว  แต่โจทก์มิได้เรียกร้องมาในคราวเดียวกันในคดีก่อน กลับนำมาฟ้องเรียกร้องเพิ่มเติมเป็นคดีนี้ จึงเป็นประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม  ป.วิ.พ.มาตรา 148 โจทก์หาอาจอ้างความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความเข้าใจคลาดเคลื่อนสำคัญผิดไปหาได้ไม่

                                                                            นายประเสริฐ   เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                         บรรณาธิการ
                          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น