คำถาม จำเลยฎีกา ต้องมาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้ว
จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา
จะถือว่าเป็นการแก้ไขคำให้การ เป็นการยื่นคำร้องขอถอนฎีกา หรือขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกา
หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 9481/2553 จำเลยฎีกาว่า มิได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค
7 ประการหนึ่ง ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกอีกประการหนึ่ง การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา
แม้จะถือว่าเป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธ เป็นให้การรับสารภาพ
ซึ่งจำเลยไม่อาจกระทำได้ เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง
และไม่อาจถือว่าการที่จำเลยยื่นคำร้องนี้เป็นการยื่นคำร้องขอถอนฎีกาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 202 ประกอบมาตรา 225
เพราะจำเลยยังติดใจฎีกาในประเด็นการลดโทษและรอการลงโทษจำคุก
ทั้งไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาด้วยการสละประเด็นบางข้อเพราะพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 216 แล้ว แต่การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริง
โดยไม่ได้โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า
จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
คำถาม ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง
ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นฟ้องเรื่องเดียวอีก
ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีก่อนอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ ดังนี้
คำฟ้องคดีหลังเป็นฟ้องซ้อนหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 7188/2553
ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดในมูลละเมิดและประกันภัยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2026/2548
ของศาลจังหวัดนครปฐม แต่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีก่อนเสียเพื่อไปฟ้องเป็นคดีใหม่ต่อศาลที่อยู่ในเขตอำนาจ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง
ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ในมูลหนี้เดิมและรายเดียวกันเป็นคดีนี้
ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีก่อนอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ ดังนั้น
เมื่อคดีที่โจทก์ขอถอนฟ้องในคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
ต้องถือว่าคดีก่อนยังไม่ถึงที่สุด
การที่โจทก์นำมูลหนี้รายเดียวกันมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอีก จึงเป็นการฟ้องซ้อนกับคดีก่อน
ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 วรรคสอง (1) แม้ต่อมาศาลฎีกาจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง
คดีก่อนถึงที่สุดก็ตาม
ก็หาทำให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้นกลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาไม่
คำถาม
โจทก์ฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแต่ประการเดียว แต่คำฟ้องได้บรรยายว่าที่ดินของโจทก์มีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมรอบไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์
ดังนี้ ศาลจะวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 12102/2553
คำฟ้องโจทก์ทั้งสามขอให้เปิดทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแต่ประการเดียว
แม้คำฟ้องได้บรรยายว่าที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีที่ดินขอบุคคลอื่นล้อมรอบไม่มีทางออกสู่ทางสาธรณประโยชน์ก็ตาม
แต่โจทก์ทั้งสามมิได้ขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นด้วย ทั้งในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่และจำเลยทั้งสองต้องรื้อถอนประตูเหล็กและรั้วออกไปหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นมิชอบด้วยกฎหมาย
และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249
วรรคสอง
และคำพิพากษาฎีกาที่ 2206/2540
วินิจฉัยเช่นกัน
แต่หากฟ้องว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมและทางจำเป็นด้วย
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3560/2553
โจทก์ที่ 2 ฟ้องว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมและทางจำเป็น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นทางจำเป็น แม้โจทก์ที่ 1 มิได้อุทธรณ์
หากศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางจำเป็นเพราะที่ดินและบ้านของโจทก์ที่
1 อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นทางสาธารณะอยู่แล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 1
ก็มีอำนาจวินิจฉัยว่าเป็นทางภาระจำยอมได้ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น
(คำพิพากษาฎีกาที่ 4510/2541, 6372/2550 วินิจฉัยเช่นกัน)
คำถาม โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน
เรื่องอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นและค่าขึ้นศาล หลังจากศาลพิพากษาคดีแล้ว
โจทก์จะมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการพิจารณาดังกล่าวว่าเป็นการผิดระเบียบได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 8497/2553 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27
กำหนดให้ผู้ที่จะร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น
จะต้องเป็นคู่ความฝ่ายที่เสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและต้องคัดค้านไม่ช้ากว่า 8
วันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น
การที่โจทก์ทั้งแปดเป็นผู้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น ทั้งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา
โจทก์ทั้งแปดก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านเรื่องอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นและค่าขึ้นศาล เพิ่งมาขอให้โอนคดีและขอค่าขึ้นศาลบางส่วนคืนภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว
จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งแปดเป็นคู่ความฝ่ายที่ผู้เสียหายที่ได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดโจทก์ทั้งแปดจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้โอนคดีไปยังศาลแขวงสุราษฎร์ธานีและขอค่าขึ้นศาลบางส่วนคืน ซึ่งเป็นการขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอยู่ในตัวได้
คำถาม
ศาลพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
หรือโจทก์ไม่มีพยานสืบ พิพากษายกฟ้อง โจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่ได้หรือไม่
คำตอบ
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
ขั้นตรวจคำฟ้อง
คำพิพากษาฎีกาที่ 2727/2544
คดีอาญาเรื่องก่อน
โจทก์และจำเลยทั้งแปดเป็นคู่ความรายเดียวกับคดีนี้โดยโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดร่วมกระทำความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 157 เช่นเดียวกับคดีนี้ ซึ่งคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องว่า “ การกระทำของจำเลยทั้งแปดตามคำฟ้องของโจทก์
ไม่ปรากฏว่าเป็นการไม่ชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต หรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้อื่น
ที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างไร พิพากษายกฟ้อง ” เท่ากับศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วว่าการกระทำของจำเลยทั้งแปดตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิด
ซึ่งเป็นการยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาการกระทำและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว
โจทก์ฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นการฟ้องช้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
(4)
มีคำพิพากษาฎีกาที่ 6770/2546 วินิจฉัยเช่นกัน
ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
คำพิพากษาฎีกาที่
1046-1047/2526
คดีทั้งสองสำนวนโจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 และที่ 3
ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ เป็นคดีซึ่งเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน เมื่อคดีของโจทก์ที่
3 ตามคดีสำนวนหลัง ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้องข้อหาอื่น
ส่วนข้อหาฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137
สั่งว่าคดีไม่มีมูลให้ยกฟ้อง โจทก์ที่ 3 มิได้อุทธรณ์ กรณีเช่นนี้ถือได้ว่า ความผิดฐานแจ้งความเท็จสำหรับจำเลยที่
1 และที่ 3 ในคดีสำนวนแรกนั้น ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว
สิทธิของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในอันที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3
ในความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 39 (4)
มีคำพิพากษาฎีกาที่
8910/2549 วินิจฉัยเช่นกัน
คำพิพากษาฎีกาที่ 8910/2549
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยนำหนังสือสัญญากู้เงินที่จำเลยกับ ส.
ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับมานำสืบและแสดงเป็นพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งของศาลชั้นต้น
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 268,180
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว
วินิจฉัยว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง จึงเท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งความผิดแล้ว
ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งโจทก์ได้ฟ้องแล้ว
คดีนี้โจทก์นำการกระทำของจำเลยในคดีอาญาเรื่องก่อนมาฟ้องจำเลยอีก
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสิทธิและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา
265 ซึ่งแตกต่างกัน แต่มูลคดีนี้ก็มาจากการกระทำอันเดียวกัน
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายอาญามาครา 39 (4)
ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ
คำพิพากษาฎีกาที่ 1382/2492
ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลเลื่อนการไต่สวนมาครั้งหนึ่งแล้ว ในครั้งที่สองทนายโจทก์มาศาล แถลงว่าตัวโจทก์มาศาล
แต่ไปไหนเสียไม่ทราบ ไม่มีพยานโจทก์มาศาลเลย แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร ศาลอาญาสั่งว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง
ศาลรออยู่จนถึงเวลา 10.45 น. ตัวโจทก์และพยานไม่มาศาลเป็นพยานนำ
ทั้งมิได้ขอเลื่อนคดี ถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบพิพากษายกฟ้อง
คดีถึงที่สุดอัยการจะยื่นฟ้องจำเลยในกรณีเดี่ยวกันอีกไม่ได้ การที่ศาลถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบพิพากษายกฟ้อง
มีมูลเช่นเดียวกับการพิพากษายกฟ้องโดยโจทก์พิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่ได้นั่นเอง
คำพิพากษาฎีกาที่ 682/2537
โจทก์ร่วมเคยยื่นฟ้องจำเลยในความผิดกรณีเดียวกันนี้ต่อศาลชั้นต้น ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ทนายโจทก์คดีดังกล่าวแถลงต่อศาลว่าไม่มีพยานมาสืบศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า
โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันความผิดของจำเลย
คดีจึงไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้อง ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับการพิพากษายกฟ้อง
โดยศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคแรก จึงถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว
สิทธินำคดีอาญานี้มาฟ้องย่อมระงับไปตาม
ป.วิ.อ.มาตรา 39 (4) หาใช่เป็นคดีที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวพิพากษายกฟ้องโดยโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคแรกไม่
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น