คำถาม คดีฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
คู่ความจะขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาโดยให้นำเงินหรือทรัพย์สินที่พิพาทมาวางศาลได้หรือไม่
คำตอบ
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 5982/2549
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย
โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน จำเลยให้การและฟ้องแย้งให้โจทก์แบ่งเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่จำเลยกึ่งหนึ่ง
จำนวน 2,000,000 บาท
คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น
จำเลยยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาว่า
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2546 โจทก์ได้แอบถอนตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 4,000,000 บาท
จากบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน)
ซึ่งเป็นเงินที่โจทก์และจำเลยหามาได้ร่วมกัน แต่โจทก์ไม่นำเงิน 2,000,000
บาท มอบแก่จำเลยตามส่วนจำเลยกึ่งหนึ่ง
เมื่อคดีถึงที่สุดจำเลยอาจจะไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว
ขอให้ศาลสั่งโจทก์นำเงินจำนวน 2,000,000
บาท มาวางศาล
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งขอให้แบ่งเงิน 4,000,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกันระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา
จึงถือว่าเงินจำนวน 4,000,000 บาท ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่พิพาทตามฟ้องแย้งของจำเลยที่จำเลยจะมีสิทธิร้องขอให้คุ้มครองประโยชน์ของตนในระหว่างพิจารณาได้
และเมื่อปรากฎข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาว่าโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เงินจำนวน 4,000,000 บาท
ที่พิพาทกันมีการนำไปฝากที่สถาบันการเงินต่าง ๆ ครั้งสุดท้ายนำไปฝากที่บริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม
จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนดังกล่าวได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ในนามของจำเลย ต่อมาเมื่อปี
2546 ได้มีการเปลี่ยนชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นชื่อของโจทก์
และหลังจากนั้นโจทก์ได้เบิกถอนเงินจำนวน 4,000,000
บาทดังกล่าว จากบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) จากข้อเท็จจริงดังกล่าว
หากในที่สุดแล้วศาลพิพากษาให้แบ่งเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยกึ่งหนึ่ง จำเลยก็จะได้ประโยชน์จากการที่ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองประโยชน์ตามคำร้องของจำเลย
กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา
264
ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองโดยให้โจทก์นำเงินจำนวน
2,000,000 บาท มาวางต่อศาลชั้นต้นชั่วคราวจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 954/2510 โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างเป็นสามีภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินรวมทั้งรายได้ที่ได้มาระหว่างเป็นสามีภริยาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ชั้นไต่สวนเพื่อให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณาได้ความว่าโจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและอยู่ร่วมกันที่โรงแรมและบ้านเช่าอันเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่พิพาท ทั้งโรงแรมและบ้านเช่านั้นปลูกอยู่บนที่ดินซึ่งมีชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ ดังนี้ รายได้จากกิจการโรงแรมและบ้านเช่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์ในระหว่างพิจารณาที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองโดยให้นำมาวางต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264
คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลที่ให้คุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างพิจารณา เมื่อข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่ศาลอาศัยเป็นหลักในการมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณามีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกวิธีการนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 262 มิใช่เป็นอำนาจของศาลฎีกา เพราะยังถือไม่ได้ว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา
คำถาม กรณีจำเลยขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 มีตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 258/2549 การร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 264 จะต้องเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันในคดีนั้นได้รับความคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยพิพาทกันในประเด็นที่ว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าหรือไม่ และโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่าใหม่ภายหลังสัญญาเช่าเดิมสิ้นสุดหรือไม่ แต่ประโยชน์ที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค8 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ที่นำหินและดินไปกองปิดทางเข้าออกบังกะโลที่จำเลยเช่าจากโจทก์ และที่โจทก์ปักหลักทำรั้วลวดหนามขวางทางเข้าออกที่ดินที่จำเลยเช่าจากโจทก์ และตัดสายไฟฟ้า ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กระทำละเมิดขัดขวางมิให้จำเลยใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า ไม่ใช่ประโยชน์ในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อต่อสู้หรือข้อเถียงตามคำให้การของจำเลย คำขอคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนกองดินและกำแพงซีเมนต์ออกจากทางเข้าออกที่ดินพิพาทก็ดี หรือให้โจทก์ถมทางที่ขุดหลุมไว้ปิดกั้นมิให้จำเลยออกสู่ถนนหลวงก็ดี จึงเป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์นอกขอบเขตตามคำให้การของจำเลย มิใช่เป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณา ทั้งจำเลยมิได้ฟ้องแย้งประการใด จึงมิใช่การขอคุ้มครองประโยชน์เพื่อบังคับตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ไม่ชอบที่จำเลยจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ในคดีนี้ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 7340/2542 คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะเข้าปลูกต้นยูคาลิปตัสโดยทุจริตก็หาอาจใช้ยันจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐไม่
และต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทที่โจทก์ปลูกย่อมไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะถือว่าไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตาม
ป.พ.พ. มาตรา 146 ฉะนั้น หากให้โจทก์ตัดต้นยูคาลิปตัสไปในระหว่างพิจารณา
ภายหลังจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้
จึงสมควรที่จะสั่งห้ามไม่ให้โจทก์เข้าตัดฟันต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทระหว่างพิจารณาคดีไว้เป็นการชั่วคราว
การขอคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 264
บัญญัติให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอระหว่างพิจารณาได้ หากเห็นว่าการกระทำของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะทำให้ตนได้รับความเสียหายหากภายหลังตนชนะคดี กฎหมายหาได้บัญญัติว่าหากผู้ขอเป็นฝ่ายจำเลยจะต้องฟ้องแย้งดังที่โจทก์ฎีกาต่างอย่างใดไม่
คำถาม ในคดีอาญา
โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือนัดสืบพยานโจทก์
แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ โจทก์จะขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 195/2528
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยและทนายมาศาล ฝ่ายโจทก์ไม่มา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบตามฟ้อง งดสืบพยานจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องว่า เหตุที่มาล่าช้าเพราะบ้านอยู่ไกลรถติด
โจทก์เตรียมพยานมาสืบพร้อมแล้ว ไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา
ขอให้ไต่สวนคำร้องของโจทก์และยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ดังนี้
เป็นการยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคแรก และมาตรา 181
เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าว ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะไต่สวนและมีคำสั่งว่ามีเหตุสมควรหรือไม่เพียงใดที่มาไม่ได้ตามกำหนดนัด
คำพิพากษาฎีกาที่ 772/2528
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ไม่มาศาล
ศาลชอบที่จะยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 และมาตรา 181 ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ภายใน 15 วัน
แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องโดยถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ
ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิดังกล่าวของโจทก์
เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ โดยอ้างว่าโจทก์เข้าใจวันนัดสืบพยานโจทก์คลาดเคลื่อนผิดวันไป
หากเป็นความจริงก็พอถือได้ว่ามีเหตุผลสมควรที่จะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งในเรื่องนี้ต่อไป
มิใช่สั่งเลยไปถึงว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่มีพยานมาสืบ ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน
คำถาม
กรณีที่ศาลพิพากษายกฟ้องโดยเหตุที่โจทก์ไม่มีพยานมาสืบตามฟ้อง
หรือศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง
ให้จำหน่ายคดี โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
กรณีโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ
คำพิพากษาฎีกาที่ 1739/2528
โจทก์และพยานโจทก์ไม่มาศาล
แต่ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องมายื่นต่อศาลขอเลื่อนการไต่สวนมูลฟ้อง
ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนและถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาเพื่อไต่สวนให้เห็นว่าคดีโจทก์มีมูล
และพิพากษายกฟ้อง ดังนี้ โจทก์จะมาร้องขอให้ยกคดีขึ้นไต่ส่วนมูลฟ้องใหม่ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 166 มิได้
เพราะมิใช่เป็นกรณีที่ศาลยกฟ้องเพราะเหตุโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด
คำพิพากษาฎีกาที่ 3250/2534
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์อันเป็นการยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา
166 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 181
ไม่ใช่เป็นการยกฟ้องโดยเหตุที่โจทก์ไม่มีพยานมาสืบตามฟ้องนั้น เมื่อโจทก์มายื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
หลังจากศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้องเพียง 3 วัน ยังไม่เกิน 15 วันนับแต่วันศาลยกฟ้อง
ทั้งคำร้องของโจทก์ก็ได้แสดงเหตุที่มาไม่ได้ไว้ด้วยแล้ว
ซึ่งหากเป็นความจริงตามคำร้องก็นับว่ามีเหตุสมควรที่มาไม่ได้จึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องของโจทก์เสียก่อน
จึงจะวินิจฉัยได้ว่าที่โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดนั้นมีเหตุสมควรหรือไม่
กรณีทิ้งฟ้อง
คำพิพากษาฎีกาที่ 4048/2524
ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนัดแรกโจทก์ขอเลื่อนคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและสั่งให้โจทก์นำส่งหมายแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบใน 7 วัน
ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าโจทก์ไม่นำส่งหมายนัดภายในกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดี คำสั่งดังกล่าวย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆอันมีมาภายหลังยื่นฟ้อง กระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องเลย กรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3950/2526 กรณีที่จะยกบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งขึ้นวินิจฉัยคดีได้นั้น จำต้องเป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้เท่านั้น แต่กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์โดยถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องนั้น
มีบทกำหมายเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์ฎีกา
หรือจะขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ในกรณีศาลสั่งจำหน่ายคดีโดยผิดหลงที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีได้โดยเฉพาะอยู่แล้ว ศาลจึงไม่อาจยกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 166 มาปรับแก่คดีของโจทก์ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งได้
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น