วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค 2 สมัยที่65 เล่ม14


                   คำถาม   โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย  หากไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วน ขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยและทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วน  ศาลวินิจฉัยให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้องโดยให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ได้  แต่มิได้พิพากษาว่า  หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ  ดังนี้ โจทก์จะมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยหรือไม่  
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  10078/2551 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดต่อโจทก์โดยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกันและโจทก์ประสงค์บังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้อง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติ และเป็นคดีมีข้อพิพาท ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีเข้าสู่ศาล  ศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติในการที่จะวินิจฉัยและพิพากษาคดี โดยหากวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมายสารบัญญัติ ก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ตามสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งห้าในทางแพ่ง สำหรับคดีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้องในฐานะเจ้าหนี้จำนอง ผู้ทรงทรัพยสิทธิจำนองเหนือที่ดินตามฟ้องตามกฎหมายสารบัญญัติด้วย  ความรับผิดดังกล่าวของจำเลยทั้งห้าก็คือ หนี้ตามคำพิพากษา หากจำเลยทั้งห้าในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ย่อมมีสิทธิบังคับคดี และในกรณีหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ย่อมมีสิทธิบังคับคดี และในกรณีหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงินการบังคับคดีย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 มาตรา 271 มาตรา 278 และมาตรา 282 คือการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้าหรือบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องของจำเลยทั้งห้า เพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ อันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์โดยสืบเนื่องจากผลแห่งคำพิพากษา และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลจำต้องระบุสิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้าไว้ในคำพิพากษาด้วย ดังนี้  เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้อง และโจทก์ก็ได้มีคำขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้า  การที่คำพิพากษามิได้ระบุให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดอันเป็นขั้นตอนในการบังคับคดี จึงหาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่
                     โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องและอุทธรณ์ฎีกาในเหตุดังกล่าวโดยตรงขึ้นมายังศาลสูงก็ชอบที่ศาลจะต้องกล่าวในคำพิพากษาให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าไว้ด้วย  เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่คู่ความและเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติให้บรรลุผลตามคำพิพากษาในเนื้อหาคดี  ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาให้ครบถ้วนตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์
                     
                     คำถาม   ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหา  ผู้ต้องหาจะอุทธรณ์คำสั่งได้หรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  479/2555  ผู้ร้องยื่นคำร้องขอออกหมายจับผู้ต้องหา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ออกหมายจับผู้ต้องหาฉบับลงวันที่  3 มิถุนายน 2551 ต่อมาผู้ต้องหายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายจับดั่งกล่าว  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ต้องหา  ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหา ผู้ร้องฎีกา
                    มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขอเพิกถอนหมายจับผู้ต้องหานั้น  ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค  1 เพื่อขอให้เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาได้หรือไม่
                    เห็นว่า  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 บัญญัติว่า ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้
 (1) ออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น
 (2)                .....................................ฯลฯ..............................................
                    สำหรับอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในการออกหมายอาญาประเภทหมายจับนั้น จะต้องปรากฏเหตุตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 ซึ่งบัญญัติว่า     เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
                     (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
                     (2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี......  และตามมาตรา 59/1 บัญญัติต่อไปว่า ก่อนออกหมาย จะต้องปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่ามีเหตุที่จะออกหมายตามมาตรา  66 มาตรา 69 หรือมาตรา 71.........
                      จากบทบัญญัติดังกล่าว เห็นว่า การออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น เพื่อให้การสวบสวนผู้ต้องหาดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม โดยไม่มีปัญหาติดขัด ล่าช้าหรือมีอุปสรรคในการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 โดยที่ขณะนั้นยังไม่เป็นการฟ้องคดีมาสู่การพิจารณาของศาล  แต่เป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนได้ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 และมาตรา 59/1 โดยเฉพาะ จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  193  เพราะจะทำให้การดำเนินงานกระบวนการยุติธรรมประสบอุปสรรคและเกิดความล่าช้า ดังจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 59 วรรคสาม บัญญัติเป็นใจความว่า ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนซึ่งมีเหตุอันควรโดยผู้ร้องขอไม่อาจไปพบศาลได้ ผู้ร้องขออาจร้องขอต่อศาลทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเภทอื่นที่เหมาะสมเพื่อขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาได้  ในกรณีเช่นว่านี้เมื่อศาลสอบถามจนปรากฏว่ามีเหตุที่จะออกหมายจับได้ตามมาตรา  59/1 และมีคำสั่งให้ออกหมายนั้นแล้ว.........  และตามวรรคสี่ ตอนท้าย บัญญัติว่า .......หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่าได้มีการออกหมายจับไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายจับได้  ทั้งนี้  ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอจัดการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรก็ได้ โดยบทบัญญัติของมาตรานี้ก็ได้ระบุวิธีการให้ศาลชั้นต้นซึ่งออกหมายจับมีอำนาจโดยตรงในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากการออกหมายจับผู้ต้องหาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ทั้งมิได้ระบุให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาในการยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นแต่อย่างใด  แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์จะให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นการขอออกหมายจับ การขอเพิกถอนหมายจับตลอดจนการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องยุติไปในระดับศาลชั้นต้นเท่านั้น  อีกประการหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 67 ยังได้บัญญัติว่า หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้  เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน  ดังนั้น หากผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนแล้ว หมายจับก็ย่อมสิ้นผลไปในตัว หรือหากคดีขาดอายุความ หรือศาลชั้นต้นซึ่งออกหมายจับนั้นได้ถอนหมายจับคืนเสียแล้ว หมายจับก็ย่อมสิ้นผลเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยประกอบกันมาผู้ต้องหาจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาต่อศาลอุทธรณ์ภาค  1 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของผู้ต้องหา เป็นการสั่งรับอุทธรณ์โดยไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ต้องหาเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ต้องหานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย  ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น

                                                                                      นายประเสริฐ   เสียงสุทธิวงศ์
                                                                             บรรณาธิการ

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ18 เมษายน 2557 เวลา 23:33

    เหตุใดไม่ลงบท บก.ให้ครบครับ ผมติดตามอยู่ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ต้องขออภัยด้วยครับ จะพยายามเร่งลงให้ครบนะครับ ตอนนี้ผมทำงานประจำไปด้วย และช่วงนี้มีงานที่บ้านค่อนข้างเยอะอะครับ เลยไม่ค่อยมีเวลา ที่สำคัญมีติดขี้เกียจนิดนึงอะครับ^^ จะลงครบแน่นอนครับ

      ลบ