คำถาม คดีฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล
หากลูกหนี้ถึงแก่กรรมไปก่อนฟ้อง
เจ้าหนี้จะฟ้องเฉพาะผู้ได้ลาภงอกจากนิติกรรมแต่ผู้เดียวได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่
5444/2553 การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 นั้น
เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรม คือลูกหนี้กับผู้ได้ลาภงอกจากนิติกรรมเป็นจำเลยในคดี
จะฟ้องเพียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้
เพราะมิฉะนั้นแล้วคำพิพากษาของศาลย่อมไม่ผูกพันลูกหนี้หรือผู้ได้รับลาภงอก
อ. เป็นลูกหนี้ของโจทก์ แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของ อ.
และเป็นผู้ได้ลาภงอกจากการกระทำนิติกรรมกับจำเลยที่
2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 มิได้ฟ้อง อ. ด้วย แม้จะปรากฏว่า อ. ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว
โจทก์ก็ชอบที่ฟ้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ อ. ได้ การที่โจทก์บรรยายฟ้องมาว่า ก่อน อ.
ถึงแก่กรรมได้พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแล รักษา
อ. มาโดยตลอด จึงเป็นไปไม่ได้ที่ อ. จะขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1
เพราะขัดต่อเหตุผล ถือว่านิติกรรมดังกล่าวทำเพื่อฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น
เป็นเพียงการบรรยายฟ้องเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า อ. กับจำเลยที่ 1
ร่วมกันทำนิติกรรมเพื่อฉ้อฉลโจทก์เท่านั้น หาใช่การบรรยายฟ้องเพื่อแสดงให้เห็นว่า
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1
คำถาม
ในคดีไม่มีข้อพิพาท
คำคัดค้านของผู้คัดค้านเป็นคำคู่ความหรือไม่และคำคัดค้านที่ไม่ชัดแจ้งจะนำบทบัญญัติแห่ง
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง มาปรับใช้ได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 5370/2535 ในคดีไม่มีข้อพิพาทถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อมให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความและให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคดีมีข้อพิพาทตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) คำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นพิพาทผู้คัดค้านจะคัดค้านคำร้องขอในประเด็นข้อใดจะต้องยื่นคำคัดค้านให้ชัดแจ้งตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงจะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในข้อนั้น
การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าพินัยกรรมทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ พระ อ.
ไม่ได้มีความประสงค์หรือเจตนาจะทำพินัยกรรมดังกล่าว
ผู้ทำพินัยกรรมได้กระทำโดยถูกหลอกลวง สำคัญผิดไม่เป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมและขณะทำพินัยกรรมพระ
อ. มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์
อันเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่าพระ อ. ทำพินัยกรรมจริงแต่ถูกหลอกลวง สำคัญผิดและสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์
แต่คำร้องคัดค้านกลับกล่าวอีกว่า ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือของพระ
อ. เท่ากับยืนยันว่าพระ อ. ไม่ได้ทำพินัยกรรม
เช่นนี้คำร้องคัดค้านจึงขัดกันเองและไม่ชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านได้คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอมหรือเป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำถูกหลอกลวง
สำคัญผิดหรือทำพินัยกรรมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์
ส่วนที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าพินัยกรรมทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่ได้ระบุว่าไม่ถูกต้องตามแบบอย่างใดจึงไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธ
คำร้องคัดค้านจึงไม่ชัดแจ้ง
ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้โต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 183 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย
คำถาม
คดีฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกออกจากอสังหาริมทรัพย์และเรียกค่าเสียหาย
จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
เป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 7572/2554 โจทก์บรรยายฟ้องว่า
โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาท
ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาท
ซึ่งโจทก์อาจใช้เช่าได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,000 บาท
ค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 48,000 บาท
และมีคำขอบังคับให้จำเลยกับบริวารรื้อถอนบ้านหลังดังกล่าวกับขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ให้ใช้ค่าเสียหาย 48,000 บาท
และค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยกับบริวารจะรื้อถอนบ้านและออกไปจากที่ดินพิพาท
จึงถือว่า คำขอบังคับให้จำเลยกับบริวารรื้อถอนบ้านและออกไปจากที่ดินพิพาทเป็นคำขอหลัก
ยิ่งไปกว่านั้นระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น
โจทก์แถลงไม่ติดใจบังคับจำเลยเกี่ยวกับค่าเสียหายตามฟ้องแล้ว เช่นนี้ คงเหลือคำขอบังคับแต่เพียงให้จำเลยกับบริวารรื้อถอนบ้านและออกไปจากที่ดินพิพาทเท่านั้น
ซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณราคาเป็นเงินได้
แม้จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์แต่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน
โดยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย
จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่อยู่ในอำนาจของแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)
คำถาม โจทก์ฟ้อง
ขอให้บังคับขำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 150,000 บาท
กับขอให้จำเลยทั้งสองตัดต้นฉำฉา ย้ายเล้าไก่ และย้ายกระบือไปเลี้ยงที่อื่น
นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ
ขอให้ชำระค่าเสียหายวันละ 200 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะดำเนินการแก้ไขเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวงหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 11419/2545 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
“ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์
โดยจำเลยทั้งสองได้เลี้ยงไก่ประมาณ 100 ตัว และเลี้ยงกระบือประมาณ 20 ตัว
บริเวณแนวรั่วในบ้านของจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ติดกับบ้านของโจทก์ เป็นเหตุให้มูลของสัตว์ดังกล่าวส่งกลิ่นเหม็นเข้าไปในบ้านโจทก์
ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่สุขภาพและอนามัยเป็นโรคภูมิแพ้
นอกจากนี้จำเลยทั้งสองได้ปลูกต้นฉำฉาสูงกว่า 15 เมตร ชิดกับแนวรั้วบ้านของโจทก์
และนำครั่งมาเลี้ยง ทำให้ใบไม้และมูลของครั่งร่วงหล่นเข้าไปในบ้านของโจทก์
โจทก์ต้องว่าจ้างคนมาเก็บกวาดขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน
150,000 บาทกับขอให้จำเลย ทั้งสองตัดต้นฉำฉา ย้ายเล้าไก่
และย้ายกระบือไปเลี้ยงที่อื่น
เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวในส่วนที่ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
เป็นคำฟ้องที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
ส่วนคำฟ้องที่ขอให้จำเลยทั้งสองตัดต้นไม้ ย้ายเล้าไก่
และกระบือไปเลี้ยงที่อื่นนั้น
เป็นคำฟ้องที่มีคำขอให้จำเลยทั้งสองกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด
จึงเป็นคำฟ้องที่มีคำขอให้ปลอดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย
ดังนี้
คำฟ้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 17 ปะรกอบมาตรา 25 (4) การที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง
และศาลดังกล่าวได้ทำการพิจารณาพิพากษาคดีกับต่อเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้รับคดีไว้วินิจฉัยและพิพากษาคดีให้
จึงเป็นการไม่ชอบปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์นี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นฎีกาขึ้นมา
แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142
(5)”
คำถาม แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน
(ส.ค.1) เป็นเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 8436/2554 แบบแจ้งการคอรอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นเพียงหลักฐานอย่างหนึ่งซึ่งแสดงว่าขณะแจ้งการครอบครอง
ผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินจำนวนเนื้อที่ดังกล่าวเป็นของผู้แจ้งเท่านั้นไม่ก่อให้เกิดสิทธิฟังเป็นยุติว่าข้อเท็จจริงต้องเป็นไปตามแบบแจ้งการครองครองที่ดิน
(ส.ค.1) นั้น
ความจริงผู้ใดจะมีสิทธิครอบครองและครองครองที่ดินเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใด
จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานว่าผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว
โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนจึงจะได้สิทธิครอบครองตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1367 แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) จึงไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีมาแสดง
ไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
ที่ห้ามมิให้สืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไข
คู่ความจึงสามารถนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน
(ส.ค.1) ได้ กรณีไม่อาจเทียบเคียงได้กับเรื่องการกู้ยืมเงินเพราะการกู้ยืมเงิน
ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น
ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ
จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ หลักฐานแห่งการกู้ยืมจึงเป็นเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีมาแสดง
การที่โจทก์ทั้งสามนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน
(ส.ค.1) เลขที่ 212 ของโจทก์ทั้งสาม จึงหาเป็นพิรุธและต้องห้ามตามกฎหมายไม่
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น