คำถาม คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด
ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง นั้น
หากคู่ความในคดีฟ้องขับไล่คือคดีระหว่างโจทก์จำเลยต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
คดีเกี่ยวกับการบังคับบริวารของจำเลยผู้ถูกฟ้องขับไล่จะต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงด้วยหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่
582/2551 คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่ผู้เช่าและบริวารออกจากที่ดินพิพาทที่จำเลยเช่าจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าเดือนละ
3,000 บาทกับให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างพร้อมค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้อง
เป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง คดีเกี่ยวกับการบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารของจำเลยจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 5506/2555 คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ
10 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านวังยาง ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
และให้จำเลยชำระค่าเสียหายปีละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 2 พฤศจิกายน 2537)
จนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทแก่โจทก์ คดีถึงที่สุด โจทก์ขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี
เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารจำเลยไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาท
ขอให้สั่งจับกุมและกักขังผู้ร้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ร้องส่งศาลชั้นต้น ผู้ร้องแถลงว่าผู้ร้องเป็นบุตรของจำเลย
จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ราคา 120,000 บาท
ได้ชำระราคาแก่โจทก์ก่อนโจทก์ถึงแก่กรรมแล้ว
และจำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ผู้ร้องปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทมา 3 ปี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดพร้อมเพื่อสอบถาม
จำเลยและผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดี
โดยอ้างเหตุทำนองเดียวกับที่ผู้ร้องแถลงต่อศาลดังกล่าว
ศาลชั้นต้นนัดพร้อม
ผู้รับมอบอำนาจของนางโกสุม ผู้จัดการมรดกของโจทก์คนใหม่ที่ขอให้บังคับแทน
แถลงว่าหากจำเลยและผู้ร้องมีหลักฐานการชำระค่าที่ดินแก่โจทก์ตามที่อ้างก็จะถอนการบังคับคดี
จำเลยกับผู้ร้องแถลงว่าไม่มีหลักฐานแสดงการชำระเงินค่าที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยและผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยและผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ส่วนที่จำเลยและผู้ร้องฎีกาว่า
การจ่ายเงินค่าที่ดินพิพาทไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง
และจำเลยกับผู้ร้องมีพยานบุคคลจะนำสืบถึงการจ่ายเงินดังกล่าวนั้น เห็นว่า คดีนี้แม้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดี
แต่เป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์อันอาจให้ผู้อื่นเช่าได้ในขณะที่ยื่นคำฟ้องเพียงปีละ
10,000 บาท หรือไม่เกินเดือนละ 4,000 บาทจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
จึงไม่มีการต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ ฎีกาของจำเลยและผู้ร้องดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยและผู้ร้องอ้างเหตุนั้นมาตั้งแต่ในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นถึงพฤติการณ์แห่งคดีว่ามีเหตุให้งดการบังคับคดีไว้ได้หรือไม่เพียงใด
อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 224 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยให้จึงไม่ชอบ
ถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติไปตามคำวินิจฉัยในคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว
จำเลยและผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิฎีกาด้วยเหตุผลดังกล่าว
การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยและผู้ร้องมานั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ
ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำถาม คดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน
หากโจทก์เรียกค่าเสียหายจนถึงวันฟ้องมาด้วย ทุนทรัพย์ที่ดินพิพาทจะต้องนำจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาบวกกับราคาที่ดินพิพาทด้วยหรือไม่
คำตอบ
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1184/2555 โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยทำละเมิดโจทก์ด้วยการบุกรุกเข้าไปปักเสารั้วในที่ดินของโจทก์
ทำให้โจทก์เข้าออกไม่ได้และมีคำขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนเสารั้วออกไปทั้งห้ามจำเลยรบกวนและให้ชดให้ค่าเสียหาย เมื่อจำเลยให้การว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลย
โจทก์ไม่ได้ครอบครอง
จำเลยมีสิทธิปักเสาทำรั้วในที่ดินของจำเลยได้ ไม่เป็นการละเมิดโจทก์
จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยต่างอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
แม้จะมีคำขอบังคับจำเลยรื้อถอนเสารั้วออกไปและให้ชำระค่าเสียหาย 50,000 บาท
และอีกเดือนละ 15,000 บาท มาด้วย
แต่การจะบังคับตามคำขอได้หรือไม่ต้องวินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทก่อนอันเป็นประเด็นสำคัญในคดี
จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลี้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
ซึ่งมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาทและจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียก
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท
แต่ไม่เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้
โจทก์ไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและยกฟ้องโจทก์ การที่โจทก์ฎีกาว่า
พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์
จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7
ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 200 ตารางวาและมีราคาประเมินตารางวาละ 700 บาท
ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงเท่ากับ 140,000 บาท เมื่อทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกิน
200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
คำถาม เจ้าของรวมคนหนึ่งในที่ดินถูกฟ้องแล้วแพ้คดี
เจ้าของรวมอีกคนหนึ่งจะเป็นโจทก์ฟ้องคดีเกี่ยวกับที่ดินแปลงเดียวกันนี้อีกได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 7496/2555 “ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความแถลงยอมรับกันต่อศาลว่า
ที่ดินพิพาทในคดีนี้กับที่ดินพิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1677/2547 ของศาลชั้นต้น
เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน
โดยคดีดังกล่าวจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นางวันเพ็ญภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ กับบริวารให้ออกจากที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่า
จำเลยในคดีนี้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทและพิพากษาให้ขับไล่นางวันเพ็ญและบริวารให้ออกไปจากที่ดิน
คดีถึงที่สุดแล้วโดยคู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา
ต่อมาโจทก์มายื่นฟ้องคดีนี้โดยตั้งรูปคดีเช่นเดียวกับที่จำเลยกับนางวันเพ็ญพิพาทในคดีก่อนว่า
โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากนางพรพรรณขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า
ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1677/2547
ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องและข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วถือได้ว่า
โจทก์จำเลยในคดีก่อนกับในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน
เนื่องจากโจทก์และนางวันเพ็ญเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและได้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส
โจทก์และนางวันเพ็ญจึงเป็นเจ้าของร่วมกัน
ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ให้อำนาจเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกและได้ความต่อไปว่านางวันเพ็ญได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่อ้างว่านางวันเพ็ญนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินพิพาทเพื่ออกโฉนดที่ดินแปลงที่โจทก์คดีนี้ซื้อมาจากผู้มีชื่อและได้ครอบครองทำประโยชน์มาเกินกว่า
10 ปี แล้ว
การกระทำของนางวันเพ็ญจึงเป็นการกระทำแทนโจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทด้วย
โจทก์ต้องผูกพันกับการกระทำของนางวันเพ็ญในคดีดังกล่าวในฐานเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท
และต้องถือว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับนางวันเพ็ญ
จำเลยในคดีก่อนซึ่งมีโจทก์ในคดีก่อนเป็นจำเลยในคดีนี้เช่นกัน
ทั้งคดีก่อนและคดีนี้ต่างก็มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกัน
จึงถือได้ว่ามีประเด็นอย่างเดียวกัน
และประเด็นในคดีก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
ฉะนั้นการที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอีก
จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันโดยคู่ความเดียวกันในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
คำถาม คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานรับของโจร
โจทก์ไม่อุทธรณ์ หากจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 280/2551 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร
แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรและยกฟ้องฐานลักทรัพย์
โจทก์ไม่อุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2
ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาฐานความผิดฐานใดฐานหนึ่งระหว่างฐานรับของโจรกับฐานลักทรัพย์ไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม เพียงแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2
ไม่มีสิทธิที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 เพิ่มเติมไปจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาเท่านั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 862/2555
เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่า
จำเลยกระทำความผิดร่วมกับพวกลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางคดีนี้
หาใช่เป็นเพียงการรับของโจรดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจร
ยกฟ้องฐานลักทรัพย์และโจทก์ไม่มีฎีกาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยในฐานความผิดฐานใดฐานหนึ่งระหว่างรับของโจรกับฐานลักทรัพย์ได้ตามป.วิ.อ.มาตรา192 วรรคสาม เพียงแต่ศาลฎีกาจะลงโทษจำเลยเพิ่มเติมไปจากที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาไม่ได้เท่านั้น
คำถาม ในคดีอาญา
จำเลยจะขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธและให้การใหม่เป็นรับสารภาพได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 58/2555 จำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธและให้การใหม่เป็นรับสารภาพเป็นการขอแก้ไขคำให้การซึ่งสามารถยื่นได้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาเท่านั้น การที่จำเลยยื่นคำร้องในระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ.มาตรา 163 วรรคสอง ส่วนแถลงการณ์จำเลยที่อ้างว่า
จำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดและปัจจุบันจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1
ได้รับอนุญาตจากศาลให้สมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค
3 และมิใช่ข้อที่จำเลยยกขึ้นฎีกา กับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อได้ความตามคำแถลงของผู้เสียหายที่
2 ที่ยื่นต่อศาลฎีกาขอให้ปรานีจำเลย ประกอบกับโทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3กำหนดนั้นสูงเกินไป
ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 วรรคสอง
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น