คำถาม ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โดยไม่วินิจฉัยประเด็นตามคำให้การจำเลยบางข้อ
หากจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์โดยไม่ตั้งประเด็นที่ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยไว้
หากศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยฎีกาในประเด็นดังกล่าวได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่
5556/2537 โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ
ท. ฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกจากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ท. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยก่อนตาย โจทก์ฟ้องคดีมรดกหลังจากทราบการตายของ ท. เกิน
10 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ท. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยปัญหาเรื่องอายุความไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ท.
จำเลยไม่ได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความตั้งเป็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ถือว่าไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ท. พิพาษากลับให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสาม
ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
การที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ภาค
1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาฎีกาที่ 5020/2538 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่า
จำเลยและคนขับรถของโจทก์มีความประมาทเท่า ๆ กัน ค่าเสียหายของโจทก์จึงตกเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียว
จำเลยแก้อุทธรณ์ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบแล้ว ปัญหาว่าจำเลยเป็นฝ่ายประมาทด้วยหรือไม่จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาว่าจำเลยมิได้เป็นฝ่ายประมาท
คงฎีกาได้เพียงว่าคนขับรถยนต์ของโจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่
และเมื่อคดีฟังได้ว่าคนขับรถของโจทก์และจำเลยมีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ค่าเสียหายจึงเป็นพับกันไป
คำพิพากษาฎีกาที่ 2042/2542 ประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยทั้งสองประเด็นนี้ไว้ในคำพิพากษาและพิพากษายกฟ้องโจทก์
เมื่อโจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์และจำเลยที่ 1
ยื่นคำแก้อุทธรณ์โดยมิได้กล่าวอ้างปัญหาทั้งสองข้อนี้ไว้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งสองประเด็นจึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์
ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาฎีกาที่ 3115-3316/2550 จำเลยที่ 2
ให้การต่อสู้ว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องเคลือบคลุม
แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองเพราะเห็นว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำ
ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 จำเลยที่ 2
ซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีไม่จำต้องอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น
แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นฟ้องซ้ำ จำเลยที่ 2
มีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องเคลือบคลุมขึ้นแก้อุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
แต่จำเลยที่ 2 คงแก้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาว่า
ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่เท่านั้น จำเลยที่ 2 หาได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมขึ้นแก้อุทธรณ์ด้วยไม่
ดังนั้น ปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่
จึงไม่ใช่ปัญหาที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในชั้นศาลอุทธรณ์
ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามป.วิ.พ.มาตรา249วรรคหนึ่ง
คำถาม
คำแก้อุทธรณ์ก่อให้เกิดประเด็นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 5679/2553 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยแต่เพียงเรื่องอำนาจฟ้อง โดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้ออื่น ๆ
รวมถึงประเด็นข้อพิพาทในเรื่องรถยนต์พิพาทสูญหายหรือไม่
แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแล้ว จำเลยได้ทำคำแก้อุทธรณ์โดยตั้งประเด็นไว้ด้วยว่ารถยนต์พิพาทไม่ได้สูญหาย
เมื่อปรากฎว่าประเด็นข้อพิพาทในชั้นอุทธรณ์ซึ่งเกิดจากคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยมีเรื่องรถยนต์พิพาทสูญหายหรือไม่อยู่ด้วย
ดังนั้น
การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 237 และ 240
คำพิพากษาฎีกาที่ 2845/2556
ปัญหาว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่
จำเลยยกขึ้นกล่าวแก้ในคำแก้อุทธรณ์แล้ว จึงเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3
สามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในประเด็นดังกล่าว
จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
คำพิพากษาฎีกาที่ 2317/2536 เมื่อศาลชั้นต้นฟังได้ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยจำเลยสละการครอบครองให้แล้ว
และพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาทเท่าที่โจทก์ครอบครองให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์ว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้างว่า ม.
ยกที่พิพาทให้จำเลยตามเอกสารหมาย ล. 1 สมบูรณ์หรือไม่
เพราะโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีอยู่แล้ว แต่เมื่อจำเลยอุทธรณ์ในประเด็นข้ออื่น โจทก์ได้กล่าวในคำแก้อุทธรณ์ถึงประเด็นข้อนี้ด้วยว่า
พินัยกรรมไม่สมบูรณ์เพราะเหตุใด คดีจึงมีประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์
ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 218/2538
แม้โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โดยมิได้ยกปัญหาอายุความขึ้นเป็นประเด็นแห่งอุทธรณ์เนื่องจากศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยถึงปัญหาอายุความไว้
แต่คำแก้อุทธรณ์มีประเด็นที่จำเลยทั้งสองได้กล่าวแก้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความด้วย
เมื่อชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ไว้
การที่ศาลอุทธรณ์ยกปัญหาอายุความขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
คำถาม การพิพากษาคดีอาญา
ศาลจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนคดีอาญาในคดีอื่นหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 5677/2555
การพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในคดีอื่น
ดังเช่นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญามาตรา
46 ไม่ แม้โจทก์ทั้งสามกับบริษัท ส.
ซึ่งมีจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการเป็นคู่ความเดียวกันและพยานหลักฐานของจำเลยจะเป็นชุดเดียวกันกับที่จำเลยเคยอ้างและนำสืบในคดีอาญาก่อนมาแล้วก็ตาม
เพราะในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั้นน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจะไม่พิพากษาลงโทษจำเลยจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริง
และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3
วินิจฉัยคดีนี้โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาคดีก่อนซึ่งเป็นที่สุด
โดยมิได้วินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่ปรากฎในส่วนคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ
และขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (5) และมาตรา 227
คำถาม คดีที่มีอัตราโทษต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
หากศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปความคุมเพื่อฝึกและอบรมจะเข้าข้อยกเว้นที่จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 153/2555
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 295, 391 และ 358 ซึ่งแต่ละข้อหามีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย
3 เดือน 30 วัน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา
104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 6
เดือน ขั้นสูง 1 ปี เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18
ไม่เข้าข้อยกเว้นที่ให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 193 ทวิ (1) ถึง (4)
ศาลอุทธรณ์ภาค 4
วินิจฉัยฎีกาของจำเลยโดยไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา
เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้ เพราะกรณีจะอนุญาตให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 221 ต้องเป็นกรณีที่ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 218 มาตรา 219 และมาตรา 220
เท่านั้น
คำถาม บิดาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยอ้างว่าจำเลยถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ผู้ร้องไม่อุทธรณ์ จำเลยผู้ถูกคุมขังมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4314/2555
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่
1 ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คดีนี้หรือไม่
เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 บัญญัติว่า “
เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย
คือ (1) ผู้ถูกคุมขังเอง......(5) สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น
หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง.....” การที่นายโปร่ง ยอดวารี ผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1
ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 90 (5) เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1
ผู้ถูกคุมขัง เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้อง
แม้นายโปร่งผู้ร้องไม่อุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1
ซึ่งเป็นผู้ถูกคุมขังเองเป็นผู้มีส่วนได้เสียและได้รับผลกระทำโดยตรงจากคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้อง
ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นได้ เนื่องจากไม่มีบทกฎหมายใดห้ามหรือจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ในกรณีนี้ไว้
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1
มิได้ใช้สิทธิร้องขอให้ปล่อยจึงหามีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้น
ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น